Categories
ปูพื้นฐานเรื่องของสูทให้มือใหม่ใส่อย่าง PROFESSIONAL
ปูพื้นฐานเรื่องของสูทให้มือใหม่ใส่อย่าง PROFESSIONAL
ขึ้นชื่อว่า สูท แม้จะเป็นเครื่องแต่งกายของผู้ชายที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่ามีความเป็นทางการ มีความสุภาพ จนสามารถเป็นมาตรฐานในการแต่งกายเข้าสังคมอย่างแพร่หลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ชายทุกคนจะมีความรู้ความชำนาญเรื่องชุดสูท ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยมากมายขนาดนั้น ดังนั้น ลอร์ดเทเลอร์จึงขอนำเรื่องราวของชุดสูทมาแชร์ให้ทุกคนได้ทราบ เพื่อให้มือใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาในวงการสูท สามารถเข้าใจเรื่องราวของชุดสูทได้มากยิ่งขึ้น จนสามารถสนุกสนานไปกับการแต่งกายด้วยชุดสูทได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้คุณดูดีและโดดเด่นทุกครั้งที่ได้สวมใส่ชุดสูท
- รูปร่างหน้าตาของสูท
ไม่ว่าคุณจะเห็นรูปร่างหน้าตาของสูทมามากแค่ไหน แต่สุดท้ายจะสามารถแบ่งหน้าตาของสูทออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่
- Single Breasted Suit คือ ชุดสูทแบบที่มีกระดุมแถวเดียว เมื่อกลัดกระดุมจะเห็นเม็ดกระดุมเรียงอยู่ตรงกลางลำตัว จะมีกระดุม 1 เม็ด หรือกระดุม 4 เม็ดก็ตาม หากเรียงแถวเดียวตรงกลางลำตัว เราก็จะเรียกว่า Single Breasted (ซิงเกิ้ล เบร๊สเท็ด)
- Double Breasted Suit คือ ชุดสูทแบบที่มีกระดุมสองแถว เมื่อกลัดกระดุมจะเห็นปกเสื้อสูทไขว้ทับกันด้านหน้าและเห็นแนวกระดุมเรียงตัวกันเป็นสองแถว จะมีกระดุม 2 เม็ดหรือกระดุม 8 เม็ด หากเรียงกันลงมาเป็น 2 แถว เราก็จะเรียกว่า Double Breasted (ดับเบิ้ล เบร๊สเท็ด)
ดังนั้น ลอร์ดเทเลอร์จึงขอแนะนำว่า หากคุณกำลังมองหาชุดสูทชุดแรกไว้ติดตู้เสื้อผ้า “Single Breasted Suit” จะสามารถตอบโจทย์ได้เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นชุดสูทที่มีความเรียบง่าย สามารถใช้งานได้หลากหลาย และคุ้มค่ากับการลงทุนสำหรับมือใหม่ในวงการสูทที่สุด
- โครงสร้างของสูท
ราคาของชุดสูทจะถูกหรือแพงก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสูทได้เช่นกัน ซึ่งในที่นี้ โครงสร้างของสูทจะหมายถึง “ไส้ใน” ของเสื้อสูทแต่ละตัว โดยหลักการแล้วจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่
- สูทแปะกาว (Fully-Fusing) เป็นโครงสร้างเสื้อสูทที่ทำได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด และประหยัดเงินที่สุด จึงพบเห็นได้บ่อยที่สุดในร้านสูทที่เน้นขายในราคาประหยัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่มีข้อเสียเรื่องใส่แล้ว “ร้อน” เพราะชั้นกาวที่อยู่ด้านในทำให้เสื้อสูทหนาทึบ และไม่ระบายอากาศ นอกจากนี้เสื้อสูทแบบทากาวจะมีน้ำหนักที่มากและค่อนข้างแข็งทื่อ ไม่โอบรับร่างกายของผู้สวมใส่ได้ดีนัก อีกจุดคือเรื่องของความทนทานในการใช้งานที่ต่ำกว่า เพราะเมื่อกาวเสื่อมสภาพเสื้อสูทก็จะเกิดอาการพองเป็นฟองอากาศเล็กๆ ดูคล้ายตุ่มพุพองทั่วตัวเลยทีเดียว
- สูทแคนวาส (Canvassing) เป็นโครงสร้างเสื้อสูทที่จะใช้ “แคนวาส” ซึ่งเป็นวัสดุคล้ายผ้า ทอจากวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น หางม้า หางอูฐ ฯลฯ ช่างตัดเสื้อสูทจะนำ “แคนวาส” มาสอดไว้ด้านในเสื้อสูทแล้วทำการเย็บแคนวาสติดกับตัวเสื้อแบบหลวมๆ โดยไม่ใช้กาวแปะ ข้อดีคือสามารถแก้ไขปัญหาของสูทแปะกาวทุกอย่าง ทั้งระบายอากาศดีกว่า ทนทานกว่า เบากว่า และยืดหยุ่นโอบรับกับหุ่นของผู้สวมใส่ได้ดีกว่า เข้าทำนองว่า “ยิ่งใส่ยิ่งสวย” แต่ข้อเสียคือใช้เวลาตัดเย็บที่นานกว่า ต้องอาศัยความชำนาญสูง และในเรื่องของ “ราคา” ที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สูทแคนวาส มักจะแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้อีก 2 ประเภท ได้แก่ สูทแคนวาสครึ่งตัว (Half-Canvas) ซึ่งจะเย็บชั้นแคนวาสตั้งแต่บริเวณบ่าลงมาจนถึงแค่ช่วงกลางลำตัว และจะใช้วิธีแปะกาวตั้งแต่กลางลำตัวลงมาถึงชายเสื้อสูทด้านล่าง กับอีกแบบคือ สูทแคนวาสเต็มตัว (Full-Canvas) ซึ่งมีความหมายตามชื่อคือ เย็บชั้นแคนวาสแบบเต็มตัวตั้งแต่บริเวณบ่ายาวตลอดลงมาถึงชายเสื้อเลยนั่นเอง
- สูทไร้โครงสร้าง (Unconstructing) คือ สูทที่ไม่มีโครงสร้างใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการแปะกาว ไม่เย็บแคนวาส แต่จะอาศัยน้ำหนักของผ้าที่ทิ้งตัวได้ดีทำหน้าที่เสมือนเป็นโครงสร้างไปในตัว สูทประเภทนี้ ความยากอยู่ตรงที่ยิ่งไม่มีโครงสร้างเข้ามาช่วย การออกแบบยิ่งจะต้อง “เป๊ะ” มากขึ้น นับเป็นเรื่องท้าทายของช่างตัดสูทที่ต้องใช้เทคนิค ฝีมือ และความชำนาญในการผลิตชุดสูทออกมาให้สวยงามเช่นกัน และด้วยความที่เป็นสูทไร้โครงสร้าง จึงทำให้เป็นชุดสูทมีน้ำหนักเบาที่สุด ใส่แล้วดูเป็นธรรมชาติที่สุด จึงเหมาะกับการใช้งานที่ลำลองและไม่เป็นทางการมากนัก
สำหรับมือใหม่ที่อยากตัดสูท ลอร์ดเทเลอร์ขอแนะนำว่า หากคุณไม่ได้มีอุปสรรคด้านการเงิน และต้องการสูทที่สามารถใส่ร่วมงานนอกสถานที่ได้ การเลือกชุดสูทแคนวาส (Canvassing) ก็ถือเป็นการลงทุนที่ดี แต่หากต้องการสูทที่ไม่เป็นทางการมากนัก สามารถใส่ในวันสบายๆ ได้อย่างดูดี สูทแบบไร้โครงสร้าง (Unconstructing) ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน
- กางเกงสูท
กลับมาย้ำความหมายของคำว่า “สูท” กันอีกครั้ง เพราะ “สูท” คือคำเรียกรวมเครื่องแต่งกาย 2 ชิ้น ได้แก่ เสื้อสูท กับ กางเกงสูท ซึ่งทั้งสองชิ้นจะต้องทำจากผ้าชนิดเดียวกันและมีสีที่เหมือนกันเท่านั้น
ดังนั้นกางเกงสูทที่ใช้ก็ควรจะมีสีและเนื้อผ้าเหมือนกับเสื้อสูทนั่นเอง แม้ว่าในปัจจุบัน เราจะเห็นสูทที่มีความเป็นแฟชั่นมากยิ่งขึ้น แต่ลอร์ดเทเลอร์ขอแนะนำว่า การเลือกตัดกางเกงสูทที่มีระดับเอวที่สูงพอสมควร ประกอบกับรูปทรงของขากางเกงมีความทิ้งตัวตรงแนบกับแนวขา เมื่อมองจากทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง ไม่รัดเข้ากับขามากเกินไปและไม่หลวมจนเกินไป ก็ยิ่งทำให้รูปร่างของคุณดูดีขึ้นได้อย่างเหมาะสม
- สีสูท
สำหรับมือใหม่ที่อยากตัดสูท ลอร์ดเทเลอร์ขอแนะนำว่า สีของสูทที่ควรสั่งตัดเป็นชุดแรกๆ ของผู้ชาย มี 3 สีหลัก ได้แก่ สีดำ สีน้ำเงิน และสีเทา ซึ่งหากจะเลือกสีใดสีหนึ่งก่อน ก็ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าหรือโอกาสที่จะได้สวมใส่โดยไม่ผิดกาลเทศะ และสีที่ดูเป็นมาตรฐานคงหนีไม่พ้นโทนสีเข้มๆ เช่น สีดำ (Black) สีกรมท่า (Navy) หรือสีน้ำเงินเที่ยงคืน (Midnight Blue) ซึ่งจะเป็นสีสูทที่เราสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่ร่วมงานแต่งงาน ติดต่อธุรกิจสำคัญ หรือแม้แต่ไปร่วมงานศพ เป็นต้น
- เนื้อผ้าของสูท
การเลือกเนื้อผ้าคือขั้นตอนที่สำคัญมาก เราคงเคยได้ยินกันมาแล้วว่าเนื้อผ้าที่เหมาะสำหรับการตัดชุดสูทดีๆ สำหรับผู้ชายสักชุด คือผ้าขนสัตว์ประเภท “ผ้าวูล” (Wool Fabric) ทว่าร้านตัดสูทหลายร้านที่เน้นตัดสูทในราคาประหยัด มักจะใช้ประโยชน์จากคำว่า “ผ้าวูล” โดยการนำผ้าที่มีส่วนผสมของขนสัตว์ (Wool) จริงๆ เพียง 10% ไปผสมกับผ้าเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์อีก 90% แล้วตั้งชื่อเรียกว่า “ผ้าวูลผสม” นั่นหมายความว่า ชุดสูทที่ตัดจากผ้าวูลแท้ 100% จึงมีราคาสูงกว่า ดังนั้น ลอร์ดเทเลอร์แนะนำว่าให้คุณสอบถามรายละเอียดของเนื้อผ้าในการตัดสูทให้แน่ชัด เพื่อคำนวณความเหมาะสมกับราคาสูทก่อนตัดสินใจจึงจะดีที่สุด
- เสื้อเชิ้ตที่จะใส่คู่กับชุดสูท
เบื้องต้นแล้วสำหรับชุดสูทสีนิยมอย่าง สีดำ สีน้ำเงิน และสีเทา วิธีการเลือกเสื้อเชิ้ตที่ง่ายที่สุดคือให้เลือกใส่ “เสื้อเชิ้ตสีขาว” เป็นคำตอบที่ปลอดภัยที่สุด ส่วนอีกจุดหนึ่งที่ควรใส่ใจนั่นคือ ปลายแขนของเสื้อเชิ้ตแขนยาวควรจะอยู่ตรงบริเวณสิ้นสุดปลายข้อมือพอดี และควรให้ยาวโผล่พ้นแขนเสื้อสูทออกมาประมาณ 1 เซนติเมตร หรือ ครึ่งนิ้ว ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้คือเทคนิคเบื้องต้นที่จะช่วยให้เรา ใส่สูทได้ดูดียิ่งขึ้นนั่นเอง
- เนกไท พ็อคเก็ตสแควร์ และนาฬิกา
อุปกรณ์เสริม หรือ Accessories อื่นๆ อย่างเช่น เนกไท ควรมีขนาดที่พอเหมาะ มีความกว้างที่สุดของเนกไทประมาณ 8-9 เซนติเมตร ยกเว้น Knit Tie ที่อาจจะแคบได้สักนิดที่ประมาณ 2 นิ้ว หรือ 6 เซนติเมตร โดยแนะนำให้ใช้เนกไทสีพื้นเรียบๆ มาตัดกับสีของสูท หรือเป็นลายคลาสสิคอย่างลายเฉียง Regimental Tie หรือ Repp Tie ก็ได้ ส่วน Pocket Square หรือ “ผ้าประดับกระเป๋าเสื้อสูท” มีข้อควรจำง่ายๆ ว่า อย่าให้เนกไทกับพ็อคเก็ตสแควร์มีสีและลวดลายที่เหมือนกันโดยเด็ดขาด ในส่วนของนาฬิกาข้อมือที่จะใส่กับชุดสูท แนะนำให้เลือกนาฬิกาที่มีดีไซน์เรียบและมีตัวเรือนที่บาง ตามสไตล์ Dress Watch เพื่อให้นาฬิกาข้อมือสามารถสอดตัวอยู่ใต้ปลายแขนเสื้อเชิ้ตได้ ไม่ยันกับแขนเสื้อเชิ้ตจนยับย่น
- รองเท้าที่จะใส่คู่กับชุดสูท
รองเท้าที่ใส่กับสูทได้ดีคือ รองเท้าหนังประเภท Dress Shoes เทคนิคคือให้เลือกรองเท้าหนังที่มีสีเข้มใกล้เคียงกับสีของกางเกงของชุดสูทที่เราใส่ เช่น สีดำและสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งการเลือกสีรองเท้าให้เหมาะสมกับสีสูท ลอร์ดเทเลอร์เคยอธิบายไว้ให้ใน ‘7 สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณผู้ชายใส่สูทได้อย่างดูดีและมีภูมิฐาน’ ไว้เรียบร้อยแล้ว
และทั้งหมดนี่ก็คือความรู้เบื้องต้น “ขั้นพื้นฐานที่สุด” ในเรื่องของการเลือกซื้อและเลือกใส่ “ชุดสูท” สำหรับผู้เป็นมือใหม่ในวงการสูท เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพผ่านการแต่งกายด้วยชุดสูท และหากคุณต้องการชุดสูทที่พร้อมเสริมให้รูปร่างของคุณดูดี และสามารถปรับบุคลิกภาพของคุณให้ดูดี สุภาพและเหมาะสมตามกาลเทศะ ลอร์ดเทเลอร์สามารถเนรมิตชุดสูทคุณภาพดีโดยช่างตัดสูทมืออาชีพให้คุณได้ ติดต่อได้ที่ เว็บไซต์ https://lordstailor.com/ หรือโทร. +66 819020171
Categories
Information
Shop
Customer area
We accept the following payment methods:
Follow us on social
Lords Tailor, 316 Sukhumvit road soi 14, KlongToey, Bangkok Mediacake web & marketing agency