Categories
วิวัฒนาการของ ‘สูท’ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
วิวัฒนาการของ ‘สูท’ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
สูท นับเป็นเครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยมจากผู้ชายตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน เหตุผลหนึ่งที่ทำให้สูทยังสามารถครองใจและได้รับความนิยมจากผู้ชายมาได้อย่างยาวนาน นอกจากจะเป็นเครื่องแต่งกายที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นชุดที่มีความสุภาพในระดับสากล สามารถปรับภาพลักษณ์ของผู้สวมใส่ให้มีความน่าเชื่อถือ ดูดี และมีภูมิฐานได้ภายในพริบตาแล้วนั้น สูท ยังมีการปรับเปลี่ยนไปตามค่านิยมของแต่ละยุคสมัยอยู่เสมอ จนเกิดเป็นวิวัฒนาการของสูท ซึ่งสามารถสะท้อนได้ถึงเหตุการณ์ความเป็นอยู่ในสังคม สภาพเศรษฐกิจ และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในช่วงเวลานั้นๆ
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้สูทได้รับความนิยมมาหลายยุคหลายสมัยนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘ช่างตัดสูท’ ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบผ่านฝีมือการตัดเย็บที่มีความละเอียด ประณีต และชำนาญ ทำให้ผู้ที่สวมใส่สามารถสะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นตัวเองได้อย่างโดดเด่นและดูดีอยู่เสมอ
หนึ่งในนั้นคือ โบ บรัมเมลล์ (Beau Brummell) ผู้ที่เรียกได้ว่าเป็น ผู้บุกเบิกต้นแบบของชุดสูทตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 โดยมีการนำเครื่องแบบของสุภาพบุรุษชาวอังกฤษในราชสำนัก ซึ่งประกอบไปด้วย เสื้อนอก (Tailcoat) กางเกงขายาวระดับหัวเข่า (Breeches) ถุงน่องผ้าไหม และวิกผมลงแป้ง มาตัดทอนให้เข้ากับวิถีชีวิตและยุคสมัยมากยิ่งขึ้น จนเหลือเพียงเสื้อสูทและกางเกงขายาวเป็นหลัก ซึ่งจะถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามค่านิยมในแต่ละยุคสมัย
สูทยุค 1900s
ยุคของการแต่งกายของผู้ชายด้วยชุดสูทสมัยใหม่ เป็นชุดสูทที่ออกนอกกรอบจากรูปแบบของราชสำนัก มีองค์ประกอบทั้งหมด 3 ชิ้น โทนสีเป็นสีเข้ม ผลิตด้วยผ้าวูลที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ อย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งในขณะนั้นจะมีความเป็นผู้นำแฟชั่น การตัดเย็บชุดสูทจะไม่เน้นการเข้ารูป ซึ่งแตกต่างจากประเทศฝั่งอเมริกาที่มีความเป็นทางการมากกว่า ด้วยชุดสูทแบบกระดุมสองแถวกับปกสูทเล็ก สวมทับกับเสื้อเชิ้ตปกสูงกว่าปกติ ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง ไททานิก (Titanic) สามารถสะท้อนรูปแบบของชุดสูทในสมัย 1900s ได้เป็นอย่างดี
สูทยุค 1920s
ยุคของชุดสูทที่ได้รับอิทธิพลจากแจ๊ส (Jazz Age) ซึ่งเป็นการสะท้อนความหรูหรา ฟู่ฟ่า อวดร่ำอวดรวยของเหล่าเศรษฐีใหม่ฝั่งอเมริกัน โดยชุดสูทจะมีสีสันที่หลากหลาย และปรับรูปแบบกางเกงให้เป็นเอวสูงทรงแบ็กกี้ รวมทั้งเพิ่มการความหรูหราขึ้นด้วยเข็มกลัดปกสูทและไทบาร์ ซึ่งเห็นได้จากภาพยนตร์เรื่อง The Great Gatsby
สูทยุค 1930s
ความตกต่ำของเศรษฐกิจในยุคนี้ ทำให้เปลี่ยนภาพของชายสวมชุดสูทถือแก้วไวน์ในบาร์หรู เป็นยืนต่อแถวรอรับบริจาคอาหารได้โดยปริยาย บุคคลที่ยังคงแต่งกายด้วยชุดสูทแบบจัดเต็มได้คงมีเพียงผู้มีอิทธิพลในเมืองใหญ่ กลุ่มมาเฟียผู้มีอำนาจ เช่น อัล คาโปน (Al Capone) และนักร้องนักแสดงชื่อดัง เช่น เฟรด แอสเตอร์ (Fred Astaire) เท่านั้น
สูทยุค 1940s
ยุคของการเสียสละผ้าวูลและผ้าทวีดของชุดสูทให้แก่เครื่องแบบทหารในช่วงของ
สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชุดสูทของผู้ชายในยุคนี้มีการนำผ้าเรยอน ซึ่งเป็นเส้นใยสังเคราะห์มาตัดเย็บแทนผ้าวูลหรือผ้าทวีด และเปลี่ยนจากการสวมชุดสูทสามชิ้นมาลดทอนให้เหลือเพียงสองชิ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองในยุคนั้น
สูทยุค 1950s
เมื่อสงครามผ่านไป ช่วงเวลาการฟื้นตัวของแฟชั่นจึงกลับมามีบทบาทมากขึ้นอีกครั้ง การแต่งกายของผู้ชายโดยทั่วไป มักสวมใส่ชุดสูทโทนสีเข้มคู่กับเนกไทสีเข้ม สวมทับเสื้อเชิ้ตสีขาวคู่กับพ็อกเก็ตสแควร์สีขาว เว้นแต่ชายผู้ฉีกทุกกฎเพื่อสไตล์ที่แตกต่างอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ที่เลือกสวมเสื้อสูทตัวโคร่งคู่กับเสื้อเชิ้ตโปโลและกางเกงเอวมาตรฐานปกติ ซึ่งทำให้ภาพรวมดูเท่และโดดเด่นไม่เหมือนใคร
สูทยุค 1960s
นับว่าเป็นยุคที่ชุดสูทมีความใกล้เคียงกับปัจจุบันมากที่สุด โดยรูปแบบของปกสูท กางเกง ไปจนถึงเนกไท ผ่านการถูกปรับสัดส่วนให้ทุกอย่างมีความสลิมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ชุดสูทของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ แก๊งผู้ชายในซีรีส์เรื่อง Mad Men หรือเครื่องแต่งกายประจำวงดนตรีชื่อดังจากเกาะอังกฤษ The Beatles เป็นต้น
สูทยุค 1970s
ยุคของสีสัน ความสนุกสนาน และอิทธิพลของแฟชั่นสไตล์ดิสโก้ ส่งผลต่อชุดสูทในทศวรรษนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งมีความตรงกันข้ามกับทศวรรษที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง โดยส่วนใหญ่ ชุดสูทในยุคนี้จะตัดด้วยเนื้อผ้าโพลีเอสเตอร์ ลักษณะของปกเชิ้ต ปกสูท และขากางเกงจะถูกขยายให้กว้างและใหญ่ขึ้นกว่าปกติ เห็นได้จากการแต่งกายของคนดังแห่งยุค เช่น เดวิด โบวี่ (David Bowie) และจอห์น ทราโวลตา (John Travolta) จากภาพยนตร์เรื่อง Saturday Night Fever
สูทยุค 1980s
อิสระและความหลากหลายของชุดสูทตามอิทธิพลของวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ มีทั้งรูปแบบของสูท ‘ไหล่ใหญ่และพับชายแขนสูทขึ้น’ ที่ริชาร์ด เกียร์ สวมใส่ในภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง American Gigolo และการสวม ‘แจ็กเกตสูทวินเทจทับเสื้อเชิ้ตคู่กับกางเกงยีนขาดๆ และเนกไทเท่ๆ ’ ซึ่งเป็นความนิยมที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมโพสต์พังค์ (Post-Punk) ของฝั่งอังกฤษนั่นเอง
สูทยุค 1990s
เสื้อสูทตัวโคร่งคู่กับเนกไทเส้นใหญ่มาก คือจุดเด่นของรูปแบบชุดสูทในทศวรรษนี้ โดยไม่ลืมเพิ่มความเป็นแฟชั่น สีสัน และความสนุกสนาน รวมไปถึงลวดลายตั้งแต่ลายเพสลีย์ (Paisley) ไปจนถึงตัวการ์ตูนต่างๆ เข้าไปในชุดสูทให้มีความเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น
สูทยุค 2000s
ยุคของการปรับเปลี่ยนชุดสูทให้มีความพอดีและทันสมัย สอดคล้องกับความหลากหลายของเจเนอเรชั่น (Generation) จนสามารถสร้างชื่อให้กับนักออกแบบและช่างตัดสูท รวมถึงแบรนด์เสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี เช่น ชุดสูทสไตล์คลาสสิกของทอม ฟอร์ด (Tom Ford) ที่เคยออกแบบให้กับแบรนด์กุชชี่ (Gucci) รวมทั้งการออกแบบของเอดี้ สลิมาน (Hedi Slimane) ที่เคยออกแบบให้ชุดสูทสามารถใส่คู่กับรองเท้าสนีกเกอร์จนเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบันได้ โดยไม่สนกฎของการตัดชุดสูทอย่างที่ผ่านมาในอดีต
จะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการของสูทตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต เหตุการณ์บ้านเมือง รวมทั้งอิทธิพลของแฟชั่นที่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสูทได้ง่ายยิ่งขึ้น และในโอกาสหน้า ลอร์ดเทเลอร์จะนำเสนอเรื่องราวใดของสูทอีก สามารถติดตามได้ในบทความถัดไปนะคะ
หากคุณต้องการชุดสูทที่สามารถปรับบุคลิกภาพของคุณให้โดดเด่นและมีเสน่ห์มากขึ้น ลอร์ดเทเลอร์สามารถเนรมิตชุดสูทคุณภาพดีโดยช่างตัดสูทมืออาชีพ ติดต่อได้ที่ เว็บไซต์ https://lordstailor.com/ หรือโทร. +66 819020171
Categories
Information
Shop
Customer area
We accept the following payment methods:
Follow us on social
Lords Tailor, 316 Sukhumvit road soi 14, KlongToey, Bangkok Mediacake web & marketing agency